บทความนี้จะนำเสนอตัวอย่างการแก้ปัญหาหลังจากการเชื่อมและการประกอบ โดยปัญหาที่พบหลังจากการเชื่อมและการประกอบคือ จุดประกอบไม่ร่วมศูนย์และชิ้นงานมีการบิดตัวที่มากเกินไป เมื่อมีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นส่งผลให้ผู้ประกอบการนั้นต้องหาทางแก้ไขปัญหาด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนลำดับการเชื่อม, การชดเชยการบิดตัว (Compensation) หรือเพิ่มกระบวนการในการแก้ไข (Rework) ขึ้นมา เป็นต้น เมื่อกระบวนการเหล่านี้เพิ่มขึ้นมาจะเป็นการเพิ่มต้นทุนขึ้นไปด้วย แนวทางจากบทความนี้จะชี้ให้เห็นถึงอีกหนึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยการลดขั้นตอนการทำงานของพนักงานลง โดยอาศัยการนำโปรแกรม SYSWELD เข้ามาช่วยหาลำดับการเชื่อมที่เหมาะสมที่สุดที่จะทำให้มีการบิดตัวที่น้อยที่สุดก่อนที่จะดำเนินการผลิตชิ้นงานจริง
ทดลองกำหนดลำดับการเชื่อมแบบสมมติฐานเบื้องต้น เพื่อหาการบิดตัวในขั้นแรก ซึ่งจะเรียงลำดับการเชื่อมจากแนวเชื่อมที่ 1 จนถึงแนวเชื่อมที่ 10 ดังแสดงในรูปที่ 2 และหลังจากทำการจำลองแล้วจะได้ผลลัพธ์จากการจำลองดังแสดงในรูปที่ 3 ซึ่งจะเห็นได้ว่าชิ้นงานหลังจากการเชื่อมและการประกอบนั้นมีค่าการบิดตัวค่อนข้างมาก โดยจะมีค่าการบิดตัว ใน Plane YZ = 0.456 มม. ฉะนั้นเราจึงต้องใช้ฟังก์ชั่นการหาลำดับการเชื่อมที่ทำให้มีการบิดตัวน้อยที่สุดแบบอัตโนมัติในโปรแกรม SYSWELD ต่อไป
อาศัยการพิจารณาเฉดสี ซึ่งเฉดสีต่าง ๆ ที่แสดงบนชิ้นงานนั้นแสดงถึงชิ้นงานที่ผ่านการเชื่อมไปแล้ว ส่วนชิ้นงานสีเทาคือชิ้นงานก่อนการเชื่อม โดยเฉดสีต่างๆจะบ่งบอกถึงค่าการบิดตัวที่แตกต่างกันไปในแต่ละตำแหน่ง โดยที่สีชมพูจะบ่งบอกถึงค่าการบิดตัวที่สูงที่สุดและลดหลั่นกันลงมาถึงสีน้ำเงินซึ่งบ่งบอกถึงค่าการบิดตัวที่น้อยที่สุดในชิ้นงานโดยในทุก ๆ เฉดสีจะมีหมายเลขกำกับถึงค่าหรือปริมาณเชิงตัวเลข
ทำการจำลองการเชื่อมในโปรแกรม SYSWELD อีกครั้งด้วยฟังก์ชั่น Welding Sequence Optimization โดยกำหนดจุดที่ต้องการพิจารณา ให้โปรแกรม SYSWELD หาลำดับการเชื่อมที่เหมาะสมที่สุด โดยจะใช้วิธีทำการสุ่มลำดับการเชื่อม (Trial and Error) เพื่อวิเคราะห์หาค่าการบิดตัวในลำดับการเชื่อมที่แตกต่างกันจนได้ค่าที่เหมาะสมที่สุด จากรูปด้านล่างจะเห็นได้ว่าชิ้นงานหลังจากการปรับปรุงแล้วจะมีค่าการบิดตัว ณ จุดประกอบใน Plane YZ = 0.311 มม. ซึ่งมีค่าต่ำกว่ากรณีก่อนการปรับปรุง 0.145 มม. หรือมีค่าการบิดตัวลดลงกว่า 31.79%
รวมทั้งฟังก์ชั่น Welding Sequence Optimization สามารถทราบค่าของการบิดตัวของลำดับการเชื่อมแบบอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการในการเลือกใช้ในการหาลำดับการเชื่อมที่เหมาะสมที่สุด
หากคำนวณต้นทุนที่สูญเสียไปในการทดลองในงานจริงในแต่ละวันอาจจะมีมูลค่าไม่สูงมากนัก แต่หากลองคิดเป็นต้นทุนที่เสียไป
ต่อเดือนหรือต่อปี จะเห็นว่าต้นทุนที่สูญเสียไปในระยะยาวมีมูลค่าสูง จะเห็นได้ว่าโปรแกรม SYSWELD จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการลดต้นทุน ต่าง ๆ ลงได้ทั้งเวลา, กำลังคน, วัสดุที่สูญเสียหรืออาจจะสามารถตัดกระบวนการแก้ไข (Rework) ออกไปได้ โดยเปลี่ยนจากการทดลองในงานจริงมาเป็นการทดลองการเชื่อมและการประกอบในคอมพิวเตอร์ด้วยโปรแกรม SYSWELD
ณัฐวุฒิ เอี่ยมอุดมชัย ปัจจุบันเป็นวิศวกรเทคนิคที่ดูแลช่วยเหลือและคอยแก้ปัญหาให้กับลูกค้าที่ใช้โปรแกรมของทางบริษัท ESI GROUP โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรแกรม SYSWELD ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา